คนญี่ปุ่นไม่เรียกฝนแค่ฝน

ในขณะที่นั่งหลบฝนอยู่ที่ไหนสักแห่งเพื่อนๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่าฝนแบบนี้คนญี่ปุ่นเขาเรียกกันว่าอะไร? anngle เองก็สงสัยเหมือนกันค่ะ พอลองมานั่งหาดู ปรากฏว่าคนญี่ปุ่นมีชื่อเรียกฝนเยอะมากค่ะแถมฝนแต่ละฤดูยังต่างกันออกไปอีกด้วย ในฐานะที่ตอนนี้ประเทศเราเองก็เข้าหน้าฝนมาแล้วเหมือนกัน เราลองมารู้จักฝนแบบต่างๆ ของคนญี่ปุ่นกันค่ะ
ฝนในฤดูใบไม้ผลิ
ฮารุชิงุเระ (春時雨)
ฮารุชิงุเระเป็นชื่อเรียกฝน “ชิงุเระ (時雨)” ที่ตกในฤดูใบไม้ผลิค่ะ โดยฝนชิงุเระเป็นฝนที่ตกๆ หยุดๆ วนไปมาค่ะ เช่นถ้าเพื่อนๆ เห็นฟ้าแจ่มใสก็จะตกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและพอเริ่มตกไม่นานก็จะหยุดค่ะ
โคนุกะอาเมะ (小糠雨)
โคนุกะอาเมะหรือฮิโซกะอาเมะ (ひそか雨) หรืออีกชื่อหนึ่งคือนุกะอาเมะ (ぬか雨) เป็นฝนที่ตกพรำๆ ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ
ซากุระอาเมะ (桜雨)
ซากุระอาเมะหรือฮานะโนะอาเมะ (花の雨) เป็นฝนที่ตกในช่วงที่ดอกซากุระบานซึ่งก็คือช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงช่วงต้นเดือนเมษายนนั่นเองค่ะ
ชุนริน (春霖)
ชุนรินเป็นชื่อที่ใช้เรียกช่วงที่สภาพอากาศอึมครึมในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเมษายนค่ะ หรือบางทีคนญี่ปุ่นจะเรียกอากาศแบบนี้ว่านางาอาเมะ (長雨) ซึ่งหมายถึงฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันเช่นกันค่ะ
นาทาเนะสึยุ (菜種梅雨)
เป็นคำใช้เรียกสภาพอากาศอึมครึมในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงเมษายน ซึ่งในแถบคันไซมักจะอึมครึมกว่าแถบคันโตค่ะ
ฮารุซาเมะ (春雨)
ฮารุซาเมะจะเป็นฝนเบาๆ ที่ตกเรื่อยๆ ไม่หยุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงเมษายน โดยจะตกหนักประมาณเดียวกันตลอดเวลาค่ะ
โทรากาอาเมะ (虎が雨)
โทรากาอาเมะเป็นชื่อเรียกฝนที่ตกในช่วงวันที่ 28 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติโดยมีที่มาของชื่อจากเรื่องเล่าการแก้แค้นของพี่น้องตระกูลโซงะ (曽我兄弟) ชื่ออิจิมันมารุ (一萬丸) และฮาโคมารุ (箱王丸) ที่กลายเป็นลูกเลี้ยงของตระกูลโซงะหลังจากที่บิดาของพวกเขาถูกลอบสังหาร โดยสองพี่น้องได้ชื่อใหม่เป็นโซงะ จูโร (曽我十郎) และโซงะ โกโร (曽我五郎) ค่ะ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สองพี่น้องแก้แค้นให้บิดาได้สำเร็จในวันที่ 28 เดือน 5 ทั้งสองก็ถูกฆ่าตายค่ะ ซึ่งจูโรคนพี่นั้นมีคนรักอยู่คนหนึ่งเป็นหญิงคณิกาชื่อโออิโสะโนะโทระ (大磯の虎) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามโทระโกะเซ็น (虎御前) ค่ะ หลังจากที่จูโรเสียชีวิต โทระโกะเซ็นได้บวชชีเพื่ออุทิศแด่ดวงวิญญาณของเขาและว่ากันว่าน้ำตาแห่งความเศร้าของเธอได้กลายเป็นฝนที่ตกลงมาทุกๆ วันครบรอบวันเสียชีวิตของจูโรค่ะ
ฝนใน
อุโนะฮานะคุตาชิ (卯の花腐し)
เป็นฝนที่ตกในช่วงที่ดอกอุโนะฮานะ (卯の花) บานซึ่งตรงกับช่วงเดือน 4 จนถึงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติค่ะ นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังเรียกฟ้าที่เมฆครึ่มในช่วงนี้ว่า “อุโนะฮานะคุโมริ (卯の花曇)” โดยคุโมริ (曇) คือสภาพอากาศที่มีเมฆครึ้มนั่นเองค่ะ
ดอกอุโนะฮานะ

นิวไบ (入梅)
นิวไบหมายถึงการเข้าสู่ฤดูฝนค่ะ ในคำนี้เพื่อนๆ จะเห็นคันจิคำว่าบ๊วยหรืออุเมะ (梅) อยู่ ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากการที่ฤดูฝนจะตรงกับช่วงที่ผลบ๊วยสุกพอดีค่ะ
สึอิริ (栗花落・堕栗花)
เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกช่วงเข้าสู่ฤดูฝนค่ะ มีที่มาจากการที่ดอกเกาลัด (栗の花) จะร่วงในช่วงเข้าฤดูฝนค่ะ
ช่อดอกเกาลัด

ซามิดาเระ (五月雨)
ซามิดาเระหมายถึงฤดูฝนโดยมีที่มาจากฝนที่ตกในเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติค่ะ
ฮาชิริสึยุ (走り梅雨)
ฮาชิริสึยุหรือมุคาเอะสึยุ (迎え梅雨) หมายถึงสภาพอากาศมืดครึ้มในช่วงกลางจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม
โอคุริสึยุ (送り梅雨)
โอคุริสึยุเป็นชื่อฝนที่ตกในช่วงจะพ้นฤดูฝนค่ะ
โมโดริสึยุ (戻り梅雨)
หรือเรียกได้อีกสองแบบว่าคาเอริสึยุ (返り梅雨) หรือโนโคริสึยุ (残り梅雨) เป็นชื่อเรียกฝนที่กลับมาตกอีกครั้งหลังผ่านฤดูฝนมาแล้ว
คาราสึยุ (空梅雨)
คาราสึยุหรือเรียกได้อีกสองแบบเช่นกันว่าฮิเดะริสึยุ (早梅雨) และคาเระสึยุ (枯れ梅雨) เป็นคำเรียกฤดูฝนที่มีฝนตกน้อยค่ะ
โยเซโนะสึยุ (陽性の梅雨)
โยเซโนะสึยุหรือโอโตโคะสึยุ (男梅雨) หมายถึงฤดูฝนที่ถ้าตกจะตกหนักแต่ถ้าไม่ตกท้องฟ้าจะแจ่มใสราวกับไม่ใช่ฤดูฝนค่ะ
อินเซโนะสึยุ (陰性の梅雨)
อินเซโนะสึยุเป็นชื่อเรียกฤดูฝนที่ฝนตกไม่แรงมาก มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอนนะสึยุ (女梅雨) ค่ะ
ฝนในฤดูร้อน
อาโอบะอาเมะ (青葉雨)
อาโอบะอาเมะหมายถึงฝนที่ตกในช่วงต้นฤดูร้อน มีที่มาจากการที่ฝนในช่วงนี้จะทำให้เห็นใบไม้เป็นประกายค่ะ นอกจากนี้ยังมีอีกสองชื่อคือสุอิอุ (翠雨) และเรียวคุอุ (緑雨) ค่ะ
สุอิอุ (瑞雨)
หรือเรียกได้อีกอย่างว่าโคคุอุ (穀雨) และคังอุ (甘雨) เป็นฝนที่ช่วยให้พืชพันธุ์เจริญเติบโตดี
คิอุ (喜雨)
คิอุหรืออามาโยโรโคบิ (雨喜び) หรือจิอุ (慈雨) เป็นฝนที่ตกหลังจากช่วงหน้าแล้งค่ะ
ยูดาจิ (夕立)
เป็นฝนที่ตกหนักในช่วงค่ำของฤดูร้อนค่ะ มีชื่อเรียกได้อีกแบบคือฮาคุอุ (白雨) ค่ะ
เซ็นฉะอุ (洗車雨)
หมายถึงฝนที่ตกในคืนก่อนวันทานาบาตะ (七夕) หรือก็คือวันที่ 6 เดือนกรกฏาคมนั่นเองค่ะ ว่ากันว่าฝนที่ตกในวันนี้มาจากน้ำที่ฮิโคโบชิ (彦星) ใช้ล้างรถเทียมวัวของตนเองก่อนจะเดินทางไปเจอโอริฮิเมะ (織姫) ค่ะ
ไซรุยอุ (洒涙雨)
เป็นฝนที่ตกในวันทานาบาตะโดยเชื่อกันว่ามาจากน้ำตาแห่งความเหงาของโอริฮิเมะและฮิโคโบชิหลังจากที่ต้องจากกันอีกครั้ง บ้างก็ว่าเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าที่ทั้งสองไม่อาจพบกันได้ในปีนี้ค่ะ
โอยามะอาราอิ (御山洗)
เป็นฝนที่ตกในวันปิดภูเขาไฟฟูจิซึ่งตรงกับวันที่ 26 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติค่ะ โดยคนญี่ปุ่นมองว่าฝนนี้จะช่วยล้างสิ่งสกปรกที่เกิดจากฤดูปีนเขาและทำให้ภูเขาไฟฟูจิสะอาดอีกครั้ง
ฮันเงะอาเมะ (半夏雨)
ฮันเงะอาเมะหมายถึงฝนที่ตกในช่วงตั้งแต่วันครีษมายันจนถึงวันที่ 11 นับจากวันครีษมายันค่ะ
ฝนในฤดูใบไม้ร่วง
อากิซาเมะ (秋雨)
อากิซาเมะหรืออีกสองชื่อคือชูริน (秋霖) และอากิจิเมริ (秋湿り) เป็นฝนที่ตกติดต่อกันเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนตุลาคมค่ะ
อากิสึอิริ (秋入梅)
หมายถึงการเข้าสู่ฤดูที่ฝนจะตกติดต่อกันเป็นเวลานานในฤดูใบไม้ร่วง
ฝนในฤดูหนาว
สะซันคัทสึยุ (山茶花梅雨)
สะซันคัทสึยุคือฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นธันวาคมซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสะซันคะ (山茶花) ซึ่งเป็นหนึ่งในดอกไม้ตระกูลเดียวกันกับสึบากิ (椿) บานค่ะ
ดอกสะซันคะ

ชิงุเระ (時雨)
ชิงุเระเป็นฝนที่ตกตั้งแต่ช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงต้นฤดูหนาว โดยจะเป็นฝนที่จู่ๆ ก็ตกแรงมาก แต่พอจะหยุดตกอากาศก็จะแจ่มใสขึ้นมาทันที
โทอุ (冬雨)
โทอุหรือคังอุ (寒雨) เป็นฝนเย็นๆ ที่ตกในฤดูหนาว
ฮิซาเมะ (氷雨)
ฮิซาเมะเป็นฝนเย็นที่จะมีลูกเห็บปนมาด้วยค่ะ ฝนชนิดนี้จะตกในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงต้นฤดูหนาวค่ะ
โทอุ (凍雨)
โทอุหมายถึงการที่ลูกเห็บตกลงมาราวกับเป็นฝนค่ะ โดยเพื่อนๆ จะเจอโทอุได้เวลาที่หิมะจะเปลี่ยนเป็นฝนค่ะ
คังคุโนะอาเมะ (寒九の雨)
เป็นฝนที่ตกในวันที่ 9 นับจากวันที่เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นลางบอกว่าพืชไร่จะอุดมสมบูรณ์ค่ะ
มุระชิงุเระ (村時雨)
เป็นฝนที่จะตกแรงอยู่พักหนึ่งก่อนจะพัดเลยไปทางอื่นแทนค่ะ
คาตะชิงุเระ (片時雨)
คาตะชิงุเระจะเป็นสภาพอากาศที่เพื่อนๆ จะเห็นท้องฟ้าฟากหนึ่งมีฝนตกอยู่ในขณะที่ท้องฟ้าอีกข้างอากาศแจ่มใสดีค่ะ
โยโกะชิงุเระ (横時雨)
สำหรับฝนชนิดสุดท้ายคือโยโกะชิงุเระนี้จะหมายถึงฝนที่ตกแบบสาดไปด้านข้างค่ะ
เท่าที่ดูกันมาทั้งหมดนี้นับว่าคนญี่ปุ่นมีการจำแนกชนิดฝนอย่างละเอียดจริงๆ ค่ะ ซึ่งถ้าเรามองในเชิงภาษาศาสตร์สังคมแล้วอาจสันนิษานได้ว่าการที่คนญี่ปุ่นจำแนกฝนอย่างละเอียดส่วนหนึ่งก็เพราะคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับฝนก็เป็นได้ค่ะ นอกจากฝนตามฤดูกาลที่เราได้ดูกันไปแล้วคนญี่ปุ่นยังมีชื่อเรียกฝนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเยอะตามแต่ลักษณะของฝนแต่ละชนิดเลยค่ะ ว่าแต่เพื่อนๆ ที่เคยไปญี่ปุ่นได้เจอฝนชนิดไหนกันบ้างคะ?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วัตถุทางตะวันตก

เทคนิคการโน้ต