สรรพคุณและประโยชน์ของสับปะรด
สับปะรด
สับปะรด ชื่อสามัญ Pineapple (ถ้าเป็นพายสับปะรดจะใช้คำว่า Pineapple Pie)
สับปะรด ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus (L.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์สับปะรด (BROMELIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย BROMELIOIDEAE
สับปะรด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะนัด มะขะนัด บ่อนัด (ภาคเหนือ), บักนัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ย่านัด ขนุนทอง (ภาคใต้) เป็นต้น
สับปะรด มีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี และจัดว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจของบ้านเราด้วย แหล่งปลูกที่สำคัญ ๆ มักจะอยู่ใกล้ ๆ ทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี หรืออุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เป็นต้น สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย (สับปะรดศรีราชา ผลใหญ่ เนื้อฉ่ำ สีเหลืองอ่อน), พันธุ์อินทรชิต (หรือพันธุ์พื้นเมือง), พันธุ์ภูเก็ต (ผลเล็กเปลือกหนา เนื้อสีเหลือง หวานกรอบ), พันธุ์นางแล (พันธุ์น้ำผึ้ง เนื้อจะเข้มเหลือง รสออกหวานจัด) เป็นต้น
สับปะรดจัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง โดยประโยชน์ของสับปะรดนั้นมีอยู่หลากหลาย เพราะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งได้แก่ คาร์โบไฮเดรต วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 กรดโฟลิก ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุแมงกานีส ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ธาตุสังกะสี เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพเราเป็นอย่างมาก และสรรพคุณสับปะรดทางสมุนไพรนั้น ก็ช่วยรักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายเช่นกัน เช่น โรคบิด โรคนิ่ว ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนอง ขับปัสสาวะ เป็นต้น
สรรพคุณของสับปะรด
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง
- ช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยบรรเทาและรักษาอาการหวัดได้
- ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีมากขึ้น
- ช่วยให้สุขภาพในช่องปากแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหงือก
- ช่วยบรรเทาอาการร้อน กระสับกระส่าย หิวน้ำ
- ช่วยแก้อาการท้องผูก ขับถ่ายไม่สะดวก
- ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกโปรตีน
- ช่วยลดเสมหะในลำคอได้
- ช่วยในการขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออก
- ช่วยรักษาโรคนิ่ว
- ช่วยรักษาโรคไตอักเสบ
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคบิด
- เชื่อว่าช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคนิ้วล็อก (Trigger finger)
- ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ
- ช่วยรักษาอาการแผลเป็นหนอง
- ช่วยแก้ปัญหาส้นเท้าแตก
- ช่วยลดการอักเสบจากบาดแผล
- เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
- ใบสด นำมาใช้เป็นยาถ่ายหรือยาฆ่าพยาธิได้
- ผลดิบสามารถนำมาใช้ห้ามเลือดได้
- ผลดิบสับปะรดช่วยขับประจําเดือน
- ส่วนของรากสับปะรดนำมาใช้เป็นยาแก้กระษัย บำรุงไตได้
- หนามของสับปะรดช่วยแก้พิษฝีต่าง ๆ ได้
ประโยชน์ของสับปะรด
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสอยู่เสมอ
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยและความแก่ชรา
- สับปะรดเป็นผลไม้ที่เมื่อรับประทานแล้วจะรู้สึกสบายท้อง ไม่รู้สึกอึดอัด
- ใช้นำมารับประทานเป็นผลไม้ หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงสับปะรด เป็นต้น
- นำมาใช้แปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ทำเป็นสับปะรดกวนก็ได้
- การแปรรูปสับปะรดอื่น ๆ เช่น การทําไวน์สับปะรด แยมสับปะรด เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของสับปะรดต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 50 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 13.12 กรัม
- น้ำตาล 9.85 กรัม
- เส้นใย 1.4 กรัม
- ไขมัน 0.12 กรัม
- โปรตีน 0.54 กรัม
- วิตามินบี 1 0.079 มิลลิกรัม 7%
- วิตามินบี 2 0.032 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 3 0.5 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 5 0.213 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 6 0.112 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 9 18 ไมโครกรัม 5%
- โคลีน 5.5 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินซี 47.8 มิลลิกรัม 58%
- ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 0.29 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมงกานีส 0.927 มิลลิกรัม 44%
- ธาตุฟอสฟอรัส 8 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุโพแทสเซียม 109 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโซเดียม 1 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.12 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
การรับประทานสับปะรดแนะนำให้ทานสด ๆ ไม่ผ่านกระบวนการประกอบอาหารหรือผ่านความร้อนเพื่อป้องกันการสูญเสียวิตามิน โดยสับปะรดที่เริ่มนิ่มแล้วและมีน้ำเหนียว ๆ ไหลออกมา แสดงว่าเริ่มเน่าหรือสุกมากจนเกินไป จึงไม่ควรรับประทาน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น