หลับอิ่มคือสมองดี
David Earnest ผู้เชี่ยวการนอนหลับชาวอเมริกัน มักบอกนักศึกษามหาวิทยาลัยเสมอว่า การนอนหลับสนิทในตอนกลางคืนเป็นผลดีต่อความสำเร็จทางวิชาการ
ศาสตราจารย์ Earnest ผู้เชี่ยวชาญประจำภาควิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยTexas A&M กล่าวว่า การอดนอนทั้งคืนเพื่อเรียนหนังสือไม่มีประโยชน์เเละไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ศาสตราจารย์ Earnest กล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปมักอดนอนเพื่ออ่านหนังสือทั้งคืน เพราะรอจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนจะเข้าห้องสอบ เขากล่าวว่านั่นเป็นเพราะนักศึกษาผลัดวันประกันพรุ่งเเล้วต้องทำทุกอย่างใช้เสร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ ที่เหลือ เขากล่าวว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลเเละยังทำให้ประสิทธิภาพลดลงด้วย
ศาสตราจารย์ Earnest ชี้ว่า มีผลการวิจัยที่พบว่าคนที่อดนอนทั้งคืนเพื่ออ่านหนังสือ จะจดจำเนื้อหาที่อ่านไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่านักศึกษาที่อดนอนทั้งคืน ยังเกิดภาวะที่เรียกว่าระดับไอคิวลดลงชั่วคราว
รายงานประจำปี ค.ศ. 2014 ของหอสมุดแพทย์เเห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ว่า อาการง่วงนอนตอนกลางวันและการนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา เป็นเรื่องปกติของนักศึกษามหาวิทยาลัย รายงานชิ้นนี้พบด้วยว่าการนอนหลับไม่เพียงพอ มีผลต่อระดับเกรดเฉลี่ย ทำให้นักศึกษาเสี่ยงที่จะล้มเหลวทางการเรียนและเกิดภาวะเครียด
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน พบว่าการนอนหลับช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการช่วยลดช่องว่างจุดประสานประสาทให้เล็กลง
จุดประสานประสาทเป็นจุดเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทเเต่ละตัว
บริษัทเทคโนโลยี Jawbone เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่วัดการออกกำลังกายเเละการนอนหลับ บริษัทนี้จัดเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อุปกรณ์นี้ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อวัดว่าพวกเขาใช้เวลานอนหลับนานเเค่ไหน และพบว่านักศึกษามหาวิทยาลัยนอนหลับนานโดยเฉลี่ยคืนละ 7 ชั่วโมง 3 นาทีในช่วงระหว่างสัปดาห์ และ 7 ชั่วโมง 38 นาทีในช่วงสุดสัปดาห์
โดยนักศึกษาหญิงนอนนานกว่านักศึกษาชายอย่างน้อย 23 นาทีต่อคืนในช่วงระหว่างสัปดาห์ และ 17 นาทีในช่วงสุดสัปดาห์
การศึกษาของบริษัท Jawbone เหมือนจะชี้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยนอนหลับอย่างเพียงพอ เนื่องจากระยะเวลานอนหลับของที่นักศึกษามหาวิทยาลัยในการศึกษาครั้งนี้ อยู่ในกรอบคำเเนะนำของมูลนิธิการนอนหลับเเห่งชาติสหรัฐฯ ที่ระบุว่าประชากรวัย 18-25 ปี ควรนอนหลับคืนละ 7-9 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม บริษัท Jawbone ชี้เเจงว่า ระดับการนอนเฉลี่ยที่ระบุสร้างความเข้าใจผิด เพราะในการศึกษาของบริษัทพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเวลาในการศึกษา นักศึกษานอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน
ศาสตราจารย์ Earnest แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M กล่าวว่าไ ม่ผิดปกติ หากนักศึกษาจะนอนหลับนาน 12 หรือ 14 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากนอนน้อยมากในคืนก่อนหน้านั้น หรือไม่ได้นอนเลยเพราะต้องเตรียมตัวสอบอย่างรีบเร่ง
นักศึกษาที่โรงเรียนทหารเเห่งต่างๆ ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเตรียมทหารเวสท์พอยด์ โรงเรียนเตรียมทหารเรือ และโรงเรียนเตรียมทหารยามฝั่ง จะต้องตื่นนอนก่อน 7 โมงเช้า ซึ่งถือเป็นเวลาตื่นนอนที่เช้าที่สุดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาที่โรงเรียนทหารทั้งสามแแห่งนี้นอนหลับโดยเฉลี่ยคืนละ 6 ชั่วโมง 38 นาทีเท่านั้น จัดว่านอนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหมดในสหรัฐฯ
มูลนิธิการนอนหลับเเห่งชาติสหรัฐฯเเนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อการนอนหลับไว้หลายข้อดังนี้
- เข้านอนตรงเวลาทุกคืนเเละตื่นนอนตรงเวลาทุกเช้า ห้องนอนควรเงียบสงบ มืดเเละมีสภาพเเวดล้อมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
- ใช้เตียงนอนที่นอนสบาย ไม่ควรอ่านหนั่งสือในที่นอน ดูทีวีหรือฟังเพลงในขณะอยู่บนเตียงนอน
- ย้ายเครื่องรับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เครื่องรับวิทยุและโทรศัพท์ออกจากห้องนอน เเต่ข้อปฏิบัตินี้อาจเเทบเป็นไปไม่ได้ในหอพักรวมนักศึกษา
- หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารในปริมาณมากก่อนเวลานอน
สำหรับคนที่ติดนิสัยรอจนวันสุดท้ายจึงเตรียมตัวจนไม่ได้นอนหลับในคืนก่อนเข้าห้องสอบ ศาสตราจารย์ Earnest เเนะนำว่าควรอ่านหนังสือจนถึงตีสอง เเล้วเข้านอนให้ได้ 4 ชั่วโมง แล้วค่อยตื่นขึ้นมาทบทวนเนื้อหาที่อ่านไปในตอนเช้า
เพราะเเม้ว่าการนอนหลับเพียง 4 ชั่วโมงไม่เพียงพอ แต่ก็ยังดีกว่าไม่นอนหลับเลย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น